Page Header

ทิศทางการส่งเสริมพลังงานถ่านหินสะอาดในประเทศไทย
Directives to Promote Clean Coal Energy in Thailand

Jongjit Hirunlabh, Umpone Chupratum

Abstract


ประเทศไทยมีความต้องการพลังงานไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้นในแต่ละปี เนื่องจากการพัฒนาประเทศ และการขยายตัวของเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันมีการใช้ก๊าซธรรมชาติในการผลิตไฟฟ้าเป็นหลัก สูงถึงร้อยละ 58 [1] ของเชื้อเพลิงที่ใช้ผลิตไฟฟ้าทั้งหมด โดยในจำนวนนี้ มีสัดส่วนของแอลเอ็นจีร้อยละ 20 ซึ่งตามแผนระยะยาว มีแนวโน้มที่สัดส่วนแอลเอ็นจีจะมากขึ้น แต่ก็ยังมีข้อจำกัดในการจ่ายก๊าซจากแหล่งอ่าวไทยและต้องนำเข้าจากต่างประเทศ หากการใช้เชื้อเพลิงจากฟอสซิลชนิดใดชนิดหนึ่งมากเกินไป โดยไม่กระจายให้เกิดความหลากหลาย จะทำให้การรักษาความมั่นคงทางด้านพลังงานของประเทศไทยลดลง รวมถึงมีผลกระทบต่อการเฉลี่ยต้นทุนราคาเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า และต้นทุนของการผลิตในอุตสาหกรรมต่างๆ ไฟฟ้าเป็นสิ่งจำเป็นในการดำรงชีวิตของประชาชน จึงเป็นเรื่องสำคัญต้องมีการปรับปรุงให้มีต้นทุนในการผลิตไฟฟ้าต่ำที่สุดเพื่อการพัฒนาประเทศ ปัจจุบันมีการนำถ่านหินมาใช้ในภาคอุตสาหกรรม และการผลิตไฟฟ้าเนื่องด้วยถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงราคาถูก ส่งผลให้ต้นทุนในการผลิตราคาต่ำ ผู้ประกอบการสามารถแข่งขันในตลาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งถ่านหินยังมีค่าความร้อนสูง และมีความเสถียรกว่าพลังงานทดแทนชนิดอื่นๆ ดังนั้นการนำถ่านหินมาใช้ ก่อให้เกิดความมั่นคงทางด้านพลังงาน ลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงชนิดใดชนิดหนึ่งมากจนเกินไป อย่างเช่น กรณีที่เคยเกิดปัญหาของก๊าซธรรมชาติมีการหยุดซ่อมบำรุงระบบการส่งก๊าซธรรมชาติ ส่งผลให้เป็นปัญหาอุปสรรคในจัดหาแหล่งเชื้อเพลิงชนิดอื่นมาทดแทน เพื่อผลิตไฟฟ้าในบางครั้งช่วงเวลานั้นๆ ได้ทันการ และจากข้อมูลปริมาณสำรองของถ่านหิน ทั้งในและต่างประเทศที่พิสูจน์แล้วมีปริมาณสำรองคงเหลือเป็นจำนวนมาก ที่จะรองรับการนำมาใช้งานเพื่อความมั่นคงในอนาคต ส่วนที่สังคมยังมีความกังวลเกี่ยวกับมลภาวะจากการใช้เชื้อเพลิงถ่านหินอยู่นั้น เนื่องจากประสบการณ์ในอดีตของโรงไฟฟ้าแม่เมาะ ซึ่งเทคโนโลยีในสมัยนั้นยังไม่ทันสมัย และเครื่องมืออุปกรณ์ควบคุมมลภาวะในขณะนั้น ราคาสูงไม่คุ้มค่าประกอบกับแหล่งถ่านหินในประเทศเป็นถ่านหินที่คุณภาพต่ำ ในปัจจุบันโรงไฟฟ้าแม่เมาะได้มีการแก้ไขปัญหา โดยการใช้เทคโนโลยีถ่านหินสะอาดในการผลิตไฟฟ้า มีการบริหารจัดการด้านเทคโนโลยีที่ทันสมัย สามารถควบคุม และลดมลภาวะได้ดีมากกว่าในอดีตอีกทั้งถ่านหินมีราคาถูกสามารถจัดหาได้ง่าย และกองเก็บไว้ในโรงไฟฟ้าได้โดยใช้พื้นที่เก็บกองไม่มากนัก ทำให้ต้นทุนในการผลิตต่ำ ถึงแม้บางครั้งราคาถ่านหินมีความผันผวนบ้างแต่ไม่มากนัก เนื่องจากความต้องการใช้ถ่านหินมีปริมาณมากขึ้นทั้งในภาคการผลิตไฟฟ้า และภาคอุตสาหกรรม ถ่านหินจัดเป็นสินค้าโภคภัณฑ์ (Commodity) ชนิดหนึ่ง มีกิจการที่เกี่ยวข้องกับถ่านหินในหลายๆ ประเทศ มีการซื้อขายกันในตลาดโลกเช่นเดียวกับน้ำมัน ราคาถ่านหินจึงอาจมีแนวโน้มสูงขึ้นหรือต่ำลงในลักษณะเดียวกับน้ำมันได้ ซึ่งเป็นไปตามสภาวะเศรษฐกิจ ความต้องการใช้ และกลไกตลาด ส่วนปัญหาการต่อต้านโรงไฟฟ้าถ่านหินจากประชาชน ซึ่งหากไม่มีการบริหารจัดการ และการนำเทคโนโลยีถ่านหินสะอาดมาใช้อาจก่อให้เกิดมลภาวะจากการเผาไหม้ถ่านหิน และปัญหามลพิษ ได้แก่ ฝุ่นละออง ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ก๊าซไนโตรเจนออกไซด์ และก๊าซคาร์บอนโมโนออกไซด์ ฯลฯ ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญมากในการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินในประเทศไทย เช่น การต่อต้านโรงไฟฟ้าถ่านหินล่าสุดในจังหวัดกระบี่ และอำเภอเทพา จังหวัดสงขลา ประชาชนกังวลในเรื่องของเส้นทางการเดินเรือขนส่ง และการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหิน อาจส่งผลกระทบกับการประมง และทรัพยากรทางทะเลได้ จึงมีการพัฒนาการใช้เทคโนโลยีถ่านหินสะอาดนับตั้งแต่กระบวนการต้นน้ำถึงปลายน้ำ คือ ตั้งแต่การทำเหมือง การขนส่ง การจัดการถ่านหินก่อนนำมาใช้ การกำจัดลดมลพิษหลังการใช้ เพื่อให้มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด

Full Text: PDF

DOI: 10.14416/j.kmutnb.2019.03.006

ISSN: 2985-2145